ประวัติกองดุริยางค์ทหารอากาศ

กองทัพอากาศพัฒนาหน่วย

เมื่อกองทัพอากาศ ได้สถาปนาขึ้นเมื่อวันที่ ๙ เมษายน ๒๔๘๐ โดยขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม  ทหารทุกหน่วยในกองทัพอากาศเปลี่ยนเครื่องแบบจากสีขี้ม้า เป็นสีเทา เปลี่ยนยศ และเครื่องหมาย เป็นทหารอากาศ

ในขณะนั้น กองทัพอากาศ มีกองบินซึ่งตั้งอยู่ที่ตำบลโคกกระเทียม หลังเขาพระบาทน้อย ครั้งแรก (กรมอากาศยาน) มีกองบิน ๔ กองบินเดียว ต่อมากองทัพอากาศได้ย้ายกองบินที่ ๒ จากดอนเมืองมารวมด้วย โดยตั้งอยู่ด้านหลังของเขาพระบาทน้อย กำลังพลของหน่วยเพิ่มมากขึ้น กองทัพอากาศจึงได้เริ่มพัฒนาหน่วยตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๐ ดังนี้

​๑. บรรจุกำลังพลเพิ่มขึ้น

​- ให้กองบินที่ตั้งอยู่ในบริเวณ พื้นที่จังหวัดลพบุรีขยายบรรจุกำลังพลเพิ่มขึ้น

๒. การสวัสดิการ

​๒.๑ สร้างสโมสรนายทหารสัญญาบัตร และนายทหารชั้นประทวน

​๒.๒ จัดตั้งหน่วยขลุ่ย - กลอง ประจำกองบิน เพื่อทำหน้าที่เดินนำแถวทหารไปผลัดเปลี่ยนกองรักษาการณ์

​๒.๓ จัดให้มีการแสดงลิเก (นาฏดนตรี) ภายในหน่วยทุกวันเสาร์ ผู้แสดงลิเก คือ ทหารและครอบครัวในหน่วย

​๒.๔ บรรจุครูแตร เข้าประจำการ เพื่อฝึกสอนพลทหารและบุตรหลานครอบครัวในหน่วยให้ปฏิบัติเครื่องดนตรี ครูแตรที่ได้รับการบรรจุ คือ จ่าอากาศโท ขวัญ  น้อยรอด เดิมรับราชการอยู่กรมมหรสพหลวง ทหารรักษาวัง ซึ่งถูกยุบตอนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕

ขยายหน่วย “ ขลุ่ย - กลอง ” เป็น “ แตรวง ”

​เมื่อตั้งหน่วย ขลุ่ย - กลอง จนสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว มีทหารบางคนสามารถปฏิบัติเครื่องดนตรีสากลได้อีกหลายประเภท เช่น คลาริเนท, ทรัมเปท, ทรอมโบน, แซกโซโฟน จ่าอากาศโท ขวัญ  น้อยรอด ครูผู้ฝึกสอนมีความคิดเห็นว่า ควรจะขยายหน่วย “ขลุ่ย - กลอง” ให้เป็นหน่วย “แตรวง” ขนาดเล็ก เพื่อใช้บรรเลงรับลิเกแทนวงปี่พาทย์ และการบรรเลงอื่นๆของหน่วยจึงเสนอความคิดเห็นไปยังผู้บังคับบัญชา ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี หน่วย “แตรวง” จึงถือกำเนิดที่กองบินน้อยที่ ๔ ตำบล โคกกระเทียม จังหวัดลพบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๒  

กองแตรวงทหารอากาศ

​ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ กองทัพอากาศได้จัดตั้งหมู่แตรวงขึ้นที่ดอนเมือง หน่วยตั้งอยู่ที่ทิศตะวันตกของสนามบินใกล้กับกองเสนารักษ์เดิม ปัจจุบันเป็นท่าอากาศยานกรุงเทพฯ อาคารเป็นโรงไม้หลังคามุงจาก ฝาทำด้วยไม้ไผ่สาน เมื่อฝนตกลมพัดมาแรงๆน้ำฝนจะไหลเข้าไปภายใน

​กองทัพอากาศได้บรรจุ เรืออากาศตรี โพธิ์  ศานติกุล ซึ่งมีความรู้ ความสามารถเรื่องดนตรีสากลเป็นอย่างดี เดิมรับราชการอยู่กรมมหรสพหลวงทหารรักษาวัง มาจัดตั้ง กองแตรวงทหารอากาศ

​พ.ศ. ๒๔๘๔ กองทัพอากาศมีคำสั่ง ทอ.ที่ ๒๑๐/๒๐๘๙๕ ลงวันที่๑ พ.ค. ๒๔๘๔ ให้จัดตั้งกองแตรวงทหารอากาศ โดยมีเรืออากาศตรี โพธิ์  ศานติกุล ดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองแตรวงทหารอากาศ มีกำลังพลเพียงไม่กี่คน

​การบังคับบัญชา กองแตรวงทหารอากาศ ขึ้นตรงต่อกองบังคับการทหารอากาศ  โดยมีนาวาอากาศเอกหลวงเจริญ   จรัมพร ดำรงตำแหน่ง หัวหน้ากองบังคับการ กองทัพอากาศ

​๗ มิ.ย. ๒๔๘๔ กำลังพลจากหน่วย แตรวง กองบินน้อยที่ ๔ จังหวัดลพบุรี รวม ๗ คน คือ ๑. จ่าอากาศโท ขวัญ  น้อยรอด ๒. พลทหาร วิชัย  ดั้นเจริญ ๓. พลทหาร สันต์  โตเจริญ ๔. พลทหาร สง่า  อารัมภีร ๕. พลทหาร ไฉน ไลยะเกษ ๖.พลทหาร กาจ  กุลเศวต ๗. จ่าอากาศโท น้อม ฯ (ปฏิบัติหน้าที่สารบรรณ) ย้ายมาสังกัดกองแตรวงทหารอากาศ เปลี่ยนเครื่องหมาย บน. ๔ เป็น ตว.ทอ. พร้อมทั้งนำเครื่องดนตรีที่ติดตัวมาจาก บน. ๔ มอบให้กองแตรวงทหารอากาศ ภายในกองแตรวงทหารอากาศมีเปียโนอยู่ ๑ หลัง และเครื่องดนตรีอีกไม่กี่ชิ้น ขณะนั้นมีทหารอากาศที่พอปฏิบัติเครื่องดนตรีได้จากกองบินอื่นๆมาเยี่ยม และบางคนจะขอย้ายมาสังกัดกองแตรวงทหารอากาศ แต่เห็นสภาพโรงหลังคามุงจาก ฝาไม้ไผ่ขัดแตะและสภาพที่ฝึกซ้อมรวมทั้งจำนวนนักดนตรี เขาก็ส่ายหน้ากลับหน่วยเดิมกันหมด เพราะบางคนเป่าได้แต่แตรเดี่ยว ซึ่งใช้ในเวลาปลุก, เวลานอน, เวลารวมพล และแจ้งเหตุร้ายต่างๆ เขาอยู่กองบินใหญ่ ๆ มีอัตราและตำแหน่งมากมาย ต่อมาทหารแตรเหล่านี้ ได้เลื่อนยศเป็นนายเรืออากาศตรี ถึงนาวาอากาศเอกกันหมด ไม่เหมือนทหารที่เป็นนักดนตรีบรรเลงรับราชการตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ จนครบอายุ ๖๐ ปี เกษียณอายุราชการแล้ว บางคนยังมียศแค่พันจ่าอากาศเอกเท่านั้น

​สถานที่ฝึกซ้อมกองแตรวงใช้บริเวณโรงอาหารของกองเสนารักษ์ ทหารอากาศ เนื่องจากดอนเมืองสมัยนั้นอยู่ไกลมาก และบ้านพักสำหรับข้าราชการกองแตรวงทหารอากาศก็ไม่มีให้จึงต้องพักอยู่กรุงเทพ ฯ การเดินทางไปปฏิบัติงานก็ไม่สะดวก ผู้บังคับบัญชาจึงให้ไปฝึกซ้อมที่กองภาพยนตร์ทหารอากาศ ทุ่งมหาเมฆ

ย้ายกองแตรวงทหารอากาศ

​๘ ธ.ค. ๒๔๘๔ ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และอีกหลายจังหวัดในภาคใต้ ใกล้กรุงเทพฯที่สุดคือ ตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ  กองทัพญี่ปุ่นเจรจากับคณะรัฐบาล ซึ่งมี จอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี กองทัพญี่ปุ่นไม่มีเจตนาจะรุกรานประเทศไทย เพียงขอเป็นทางผ่านไปยังประเทศพม่าและมาเลเซียรัฐบาลจึงสั่งให้หยุดการสู้รบ ต่อมาทหารญี่ปุ่นขอเข้าอยู่บริเวณดอนเมือง ด้านทิศตะวันตกใกล้สถานีรถไฟดอนเมืองหน่วยราชการของ กองทัพอากาศ ต้องย้ายมาอยู่ด้านทิศตะวันออกของสนามบินดอนเมืองใกล้ถนนพหลโยธิน กองโรงเรียนการบินย้ายไปอยู่สนามบินจังหวัดนครราชสีมา รุ่งขึ้นวันที่ ๙ ธ.ค.๒๔๘๔ สนามบินดอนเมืองไม่มีเครื่องบินแม้แต่เครื่องเดียว ทหารอากาศทุกหน่วยที่มีที่ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกตรงข้ามสถานีรถไฟดอนเมือง  ย้ายมาหมดทุกหน่วยคงเหลือแต่กองรักษาการณ์อยู่ด้านประตูเข้าออก  ส่วนกองแตรวงคงมี พลทหาร สง่า  อารัมภีร และ พลทหาร สันต์  โตเจริญ ประจำอยู่ ๒ คนเท่านั้น

กำลังพล กองแตรวงทหารอากาศรุ่นแรก จำนวน ๙ คน

​๑. เรืออากาศตรี โพธิ์  ศานติกุล ​ผู้บังคับกองแตรวง

​๒. จ่าอากาศโท โพธิ์  ชูประดิษฐ์ ​รองผู้บังคับกองแตรวง

​๓. จ่าอากาศโท น้อม ​ปฏิบัติหน้าที่งานสารบรรณ

​๔. จ่าอากาศโท ขวัญ  น้อยรอด ​ทรอมโบน

​๕. พลทหาร วิชัย  ดั้นเจริญ ​ทรัมเปท

​๖. พลทหาร สันต์  โตเจริญ ​ไวโอลิน

​๗. พลทหาร สง่า อารัมภีร ​คลาริเนท

​๘. พลทหาร ไฉน   ไลยะเกษ ​เบส

​๙. พลทหาร กาศ  กุลเศวต ​อัลโตแซกโซโฟน 

กองแตรวง กองภาพยนตร์ทหารอากาศ มีผู้บังคับบัญชารุ่นแรก คือ

​๑. นาวาอากาศเอก สกล  รสานนท์ ​ผู้อำนวยการ กองภาพยนตร์ทหารอากาศ

​๒. พระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยะกร) ​ผู้อำนวยการ โรงเรียนดนตรี กองภาพยนตร์ทหารอากาศ

​๓. เรืออากาศตรี โพธิ์  ศานติกุล ​ผู้บังคับกองแตรวง กองภาพยนตร์ทหารอากาศ

​๔. จ่าอากาศโท โพธิ์ ชูประดิษฐ์ ​ผู้ช่วยผู้บังคับกองแตรวง กองภาพยนตร์ทหารอากาศ

พระเจนดุริยางค์ (ปิติ  วาทยะกร) มารับราชการในกองทัพอากาศ

​ผู้อำนวยการกองภาพยนตร์ทหารอากาศ  ซึ่งเรียนเชิญอาจารย์“พระเจนดุริยางค์” (ปิติ  วาทยะกร) จากกรมศิลปากรให้มาเป็นผู้บริหารจัดตั้งวงดนตรีให้ถูกต้องตามมาตรฐานสากลกองทัพอากาศได้มีคำสั่งบรรจุศาสตราจารย์ “พระเจนดุริยางค์” (ปิติ  วาทยะกร)รับราชการในกองภาพยนตร์ทหารอากาศ  เมื่อ มิถุนายน ๒๔๘๔

​เมื่อพระเจนดุริยางค์ย้ายจากกรมศิลปากร มารับราชการสังกัดกองภาพยนตร์ทหารอากาศ ได้ดำเนินการจัดตั้งวงดนตรีมาตรฐานสากลขึ้นจำนวน ๓ วง คือ

            ๑. วง “โยธวาทิต”  (MILITARY  BAND)

            ๒. วง “จุลดุริยางค์” (ORCHESTRA)

            ๓. วง “หัสดนตรี” ( JAZZ  BAND)

​พระเจนดุริยางค์ได้ดำเนินการฝึกซ้อมโดยมี เรืออากาศโทโพธิ์  ศานติกุลและจ่าอากาศเอกโพธิ์ ชูประดิษฐ์  เป็นผู้ช่วย พร้อมทั้งมอบให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ ควบคุมแต่ละวงดังนี้

​- เรืออากาศโท โพธิ์  ศานติกุล และจ่าอากาศเอก โพธิ์  ชูประดิษฐ์  ควบคุมการฝึกซ้อมวง “จุลดุริยางค์”

​- จ่าอากาศโท เสงี่ยม  กาศสุวรรณ  ควบคุมการฝึกซ้อมวง “หัสดนตรี”

​- จ่าอากาศโท ถวัลย์  วรวิบูลย์  ควบคุมการฝึกซ้อมวง “โยธวาทิต”